ส่วนของบทความ

ส่วนของบทความ->ภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ ->อุทกภัย(น้ำ) [ ค้นหา ]

อุทกภัย(น้ำ)
หัวข้อ อุทกภัย(น้ำ)
รายละเอียด ข้อมูลภัยพิบัติและการป้องกันบรรเทาภัยที่เกิดจากน้ำ
ส่งโดย Atten

นิยามของอุทกภัย หมายถึง อันตรายจากน้ำท่วม เกิดจากระดับน้ำในทะเล มหาสมุทร และแม่น้ำสูงมาก จนท่วมท้นล้นฝั่งและตลิ่ง ไหลท่วมบ้านเรือน ด้วยความรุนแรงของกระแสน้ำ ทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีเราจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า มีอุทกภัยเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก เช่น อินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนถูกทำลาย พาหนะต่าง ๆ เช่น รถยนต์จมอยู่ในน้ำจะพาโคลนตมเข้าไปทับถมในอาคารบ้านเรือน โรงงาน สูงเป็นสิบ ๆ เซนติเมตร จึงทำให้สิ่งของเสียหาย ในชนบททำให้พืชผล ไร่นา สัตว์เลี้ยงเสียหาย ทำให้การคมนาคมหยุดชะงัก ก่อให้เกิดโรคระบาด เกิดทุพภิกขภัยตามมา

ภัยจากการเกิดอุทกภัยทางธรรมชาติ (Types Of Natural Flood) มี 4 รูปแบบ คือ
1. น้ำล้นตลิ่ง (river flood) เกิดจากน้ำทะเลหนุน
2. น้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) เกิดจากฝนตกหนักเป็นเวลานาน
3. คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surges) เกิดจากพายุหมุนเขตร้อน
4. น้ำท่วมขัง (drainage flood) น้ำเอ่อนอง เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง มีระดับสูงจากปกติท่วมแช่ขัง ทำให้การคมนาคมหยุดชะงัก เกิดโรคระบาดได้ ทำลายพืชผลเกษตรกร

อันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้น
1. ความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน อาคาร บ้านเรือน ผู้คนและสัตว์จมน้ำตาย เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด สิ่งสาธารณูปโภคเสียหาย สิ่งก่อสร้างสาธารณสถานเกิดความเสียหาย
2. ความเสียหายต่อแหล่งเกษตรกรรม ได้แก่ แหล่งกสิกรรมไร่นา สัตว์เลี้ยง สัตว์พาหนะ ตลอดจนแหล่งเก็บเมล็ดพันธ์พืชยุ้งฉาง
3. ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ รายได้ของประเทศลดลง รัฐต้องมีรายจ่ายสูงขึ้นจากการซ่อมบูรณะซ่อมแซม และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และเกิดข้าวยากหมากแพงทั่วไป
4. ความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ขาดน้ำดีในการอุปโภคบริโภค ขาดสุขอนามัยในการขับถ่าย ทำให้เกิดโรคระบาด เช่น โรคน้ำกัดเท้า อหิวาตกโรค เกิดความเครียด และความวิตกกังวล เป็นต้น
5. ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ฝนที่ตกหนัก น้ำที่ท่วมท้น กระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม (landslides) ผิวหน้าดินถูกชะ แหล่งน้ำเกิดการตื้นเขิน เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ

การป้องกันและลดความเสียหายจากอุทกภัย
-ติดตามฟังข่าวอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
-เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนให้อพยพ ควรรีบอพยพไปอยู่ในที่สูง อาคารที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ถ้าอยู่ที่ราบให้ระมัดระวังน้ำป่าหลากจากภูเขาที่ราบสูงลงมา กระแสน้ำจะรวดเร็วมาก ควรสังเกตเมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันบนภูเขาหลายๆ วัน ให้เตรียมตัวอพยพขนของไว้ที่สูง ถ้าอยู่ริมน้ำให้เอาเรือหลบเข้าฝั่งไว้ในที่จะใช้งานได้เมื่อเกิดน้ำท่วม เพื่อการคมนาคม
-ควรมีการวางแผนอพยพว่าจะไปอยู่ที่ใด พบกันที่ไหน อย่างไรเมื่อมีกระแสน้ำหลาก จะทำลายวัสดุก่อสร้าง เส้นทางคมนาคม ต้นไม้ พืชไร่ได้ ให้ระวังกระแสน้ำพัดพาไป
-อย่าขับรถยนต์ฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก แม้บนถนนก็ตาม
-อย่าลงเล่นน้ำ อาจพบอุบัติภัยอื่นๆ อีกได้
-หลังจากน้ำท่วมจะมีขัง จะเกิดโรคระบาดในระบบทางเดินอาหารทั้งคนและสัตว์ ให้ระวังน้ำบริโภค ควรสะอาด ต้มสุกเสียก่อน

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อได้รับคำเตือนเรื่องอุทกภัยหรือสัญญาณเตือนภัย(ก่อนเกินน้ำท่วม)
-เชื่อฟังคำเตือนอย่างเคร่งครัด
-ติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง
-เคลื่อนย้ายคน สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และสิ่งของไปอยู่ในที่สูง ซึ่งเป็นที่พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
-ทำคันดินหรือกำแพงกั้นน้ำโดยรอบ
-เคลื่อนย้ายพาหนะ เช่น รถยนต์หรือล้อเลื่อนไปอยู่ที่สูง หรือทำแพสำหรับที่พักรถยนต์ อาจจะใช้ถังน้ำขนาด 200 ลิตร ผูกติดกันแล้วใช้กระดานปูก็ได้
-เตรียมกระสอบใส่ดินหรือทราย เพื่อเสริมคันดินที่กั้นน้ำให้สูงขึ้น เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงท่วมคันดินที่สร้างอยู่
-ควรเตรียมเรือไม้ เรือยาง หรือแพไม้ไว้ใช้ด้วย เพื่อใช้เป็นพาหนะในขณะน้ำท่วมเป็นเวลานาน เรือเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตได้เมื่ออุทกภัยคุกคาม
-เตรียมเครื่องมือช่างไม้ ไม้กระดาน และเชือกไว้บ้างสำหรับต่อแพ เพื่อช่วยชีวิตในยามคับขัน เมื่อน้ำท่วมมากขึ้น จะได้ใช้เครื่องมือช่างไม้เปิดหลังคารื้อฝาไม้ เพื่อใช้ช่วยพยุงตัวในน้ำได้
-เตรียมอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำรองไว้บ้าง พอที่จะมีอาหารรับประทานเมื่อน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลาย ๆ วัน อาหารย่อมขาดแคลนและไม่มีที่หุงต้ม
-เตรียมน้ำดื่มเก็บไว้ในขวดและภาชนะที่ปิดแน่น ๆ ไว้บ้าง เพราะน้ำที่สะอาดที่ใช้ตามปกติขาดแคลนลง ระบบการส่งน้ำประปาอาจจะหยุดชะงักเป็นเวลานาน
-เตรียมเครื่องเวชภัณฑ์ไว้บ้างพอสมควร เช่น ยาแก้พิษกัดต่อยแมลงป่อง ตะขาบ งู และสัตว์อื่น ๆ เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมพวกสัตว์มีพิษ เหล่านี้จะหนีน้ำขึ้นมาอยู่บนบ้านและหลังคาเรือน
-เตรียมเชือกมนิลามีความยาวไม่น้อยกว่า 10 เมตร ใช้ปลายหนึ่งผูกมัดกับต้นไม้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ในกรณีที่กระแสน้ำเชี่ยว และคลื่นลูกใหญ่ซัดมากวาดผู้คนลงทะเล จะช่วยไม่ให้ไหลลอยไปตามกระแสน้ำ
-เตรียมวิทยุที่ใช้ถ่านไฟฉาย เพื่อไว้ติดตามฟังรายงานข่าวลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
-เตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และเทียนไข เพื่อไว้ใช้เมื่อไฟฟ้าดับ

วิธีปฏิบัติตัวขณะเกิดอุทกภัย
ขณะเกิดอุทกภัยควรตั้งสติให้มั่นคง อย่าตื่นกลัวหรือตกใจ ควรเตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ด้วยความสุขุม รอบคอบ และควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
-ตัดสะพานไฟ และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อย
-จงอยู่ในอาคารที่แข็งแรง และอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
-จงทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
-ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก
-ไม่ควรเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเล่นในขณะน้ำท่วม
-ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้าน และหลังคาเรือนกัดต่อย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น
-ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลมฟ้าอากาศ และติดตามคำเตือนเกี่ยวกับ ลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
-เตรียมพร้อมที่จะอพยพไปในที่ปลอดภัยเมื่อสถานการณ์จวนตัว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ
-เมื่อจวนตัวให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าห่วงทรัพย์สมบัติ

วิธีปฏิบัติตัวหลังเกิดอุทกภัย
หลังอุทกภัย เมื่อระดับน้ำลดลงจนเป็นปกติ การบูรณะซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ จะต้องเริ่มต้นทันที่งานบูรณะต่าง ๆ เหล่านี้จะประกอบด้วย
-การขนส่งคนอพยพกลับยังภูมิลำเนาเดิม
-การช่วยเหลือในการรื้อสิ่งปรักหักพัง ซ่อมแซมบ้านเรือนที่หักพัง และถ้าบ้านเรือนที่ถูกทำลายสิ้น ก็ให้ได้รับความช่วยเหลือในการจัดหาที่พักอาศัยและการดำรงชีพชั่วระยะหนึ่ง
-การกวาดเก็บขนสิ่งปรักหักพังทั่วไป การทำความสะอาดบ้านเรือน ถนนหนทางที่เต็มไปด้วยโคลนตม และสิ่งชำรุดเสียหายที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปกลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
-ซ่อมแซมบ้านเรือนอาคาร โรงเรียนที่พักอาศัย สะพานที่หักพังชำรุดเสียหาย และที่เสียหายมากจนไม่อาจซ่อมแซมได้ ก็ให้รื้อถอนเพราะจะเป็นอันตรายได้
-จัดซ่อมทำเครื่องสาธารณูปโภค ให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด เช่น การไฟฟ้า ประปา โทรเลข โทรศัพท์
-ภายหลังน้ำท่วมจะมีซากสัตว์ตาย ปรากฏในที่ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดการเก็บฝังโดยเร็ว สัตว์ที่มีชีวิตอยู่ซึ่งอดอาหารเป็นเวลานาน ให้รีบให้อาหารและนำกลับคืนให้เจ้าของ
-ซ่อมถนน สะพาน และทางรถไฟที่ขาดตอนชำรุดเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม เพื่อใช้ในการคมนาคมได้โดยเร็วที่สุด
-สร้างอาคารชั่วคราวสำหรับผู้ที่อาศัย เนื่องจากถูกอุทกภัยทำลายให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
-การสงเคราะห์ผู้ประสบอุทกภัย มีการแจกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหารแก่ผู้ประสบภัย ความอดอยาก ความขาดแคลนจะมีอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งควรจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยบรรเทาทุกข์หรือมูลนิธิ และอีกประการหนึ่ง
-ภายหลังอุทกภัย เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะทำให้เกิดเจ็บไข้และโรคระบาดได้

โหวต โหวต: 3 - เฉลี่ย: 5

เพิ่มคำติชม ให้คะแนน
แนะนำติชม

สถิติ
นั้นมี 17 บทวิจารณ์ในฐานข้อมูล
ชมมากสุด: แปลงหน่วย
คะแนนมากสุด: แปลงหน่วย

จำนวนผู้ใช้ทั้งหมดที่ดูบทความในขณะนี้: 2 (1 สมาชิกที่ลงทะเบียน 1 แขก และ 0 สมาชิกที่ไม่ออกนาม)
สมาชิกที่มองเห็นได้: 1


 
 
สนับสนุนโดย
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากสภากาชาดไทย บริษัท นครไทยเน็ตเวิร์ค จำกัด DTAC Advance Info Service กรมอุตุนิยมวิทยา นักวิทยุสมัครเล่น -->
Copyright ©2008 NakhonThai Network Co.,Ltd. All rights reserved.