ส่วนของบทความ

ส่วนของบทความ->ภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ ->แผ่นดินไหว [ ค้นหา ]

แผ่นดินไหว
หัวข้อ แผ่นดินไหว
รายละเอียด ภัยพิบัติที่เกิดจากแผ่นดินไหว
ส่งโดย Atten
    การเกิดแผ่นดินไหว “แผ่นดินไหว” เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับสมดุลย์ของเปลือกโลกให้คงที่ สาเหตุ ของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นจัดแบ่งได้ 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่ง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อนและแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้น ชนิดที่สองเป็นแผ่นดินไหวจากธรรมชาติ ซึ่งมีทฤษฎีกลไกการเกิดแผ่นดินไหวอันเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน 2 ทฤษฎี คือ 1. ทฤษฎีที่ว่าด้วยการขยายตัวของเปลือกโลก (Dilation source theory) อันเชื่อว่าแผ่นดินไหวเกิดจากการที่เปลือกโลกเกิดการคดโค้งโก่งงออย่างฉับพลัน และเมื่อวัตถุขาดออกจากกันจึงปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแผ่นดินไหว 2. ทฤษฎีที่ว่าด้วยการคืนตัวของวัตถุ (Elastic rebound theory) เชื่อว่าแผ่นดินไหวเกิดจากการสั่นสะเทือนอันเป็นเหตุผลมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน (Fault) ดังนั้นเมื่อเกิดการเคลื่อนที่ถึงจุดหนึ่งวัตถุจึงขาดออกจากกัน และเสียรูปอย่างมากพร้อมกับการปลดปล่อยพลังงานออกมา และหลังจากนั้นวัตถุก็คืนตัวกลับสู่รูปเดิม ทฤษฎีนี้สนับสนุนแนวความคิดที่เชื่อว่า แผ่นดินไหวมีกลไกการกำเนิดเกี่ยวข้องโดยตรง และใกล้ชิดกับแนวรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการแปรสัณฐานของเปลือกโลก (Plate tectonics) เปลือกโลกของเราประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลก จำนวนประมาณ 12 แผ่นใหญ่ ทั้งที่เป็นแผ่นมหาสมุทรและแผ่นทวีป ซึ่งมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาต่อให้บางแผ่นมีการเคลื่อนแยกออกจากกัน บางแผ่นเคลื่อนเข้าหาและมุดซ้อนเกยกัน และบางแผ่นเคลื่อนเฉียดกัน อันเป็นบ่อเกิดของแรงเครียดที่สะสมไว้ภายในเปลือกโลกนั้นเอง

    การศึกษาภัยธรรมชาติหลายชนิดที่รุนแรงในประเทศไทยเป็นไปอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ เช่น ภัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา พายุ ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากมีการพัฒนาทั้งทางด้านทฤษฎี และเครื่องมือตรวจวัดข้อมูลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ด้านอุตุนิยมวิทยา มีเครือข่ายตรวจวัดที่หนาแน่นในประเทศและทั่วโลก รวมถึงมีการจัดการต่อภัยในภาพรวมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่ยังมีภัยธรรมชาติบางชนิด เช่น ภัยแผ่นดินไหว ซึ่งยังคงท้าทายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากลักษณะทางธรรมชาติของแผ่นดินไหวนั้นเกิดอยู่ใต้พื้นโลกหลายสิบกิโลเมตรและอาจมีตำแหน่งที่ลึกลงไปถึงหลายร้อยกิโลเมตรซึ่งยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้โดยตรง ดังนั้นความยากลำบากในการศึกษาจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แม้ว่าปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งทางด้านทฤษฎีตลอดจนเครือข่ายและเครื่องมือต่างๆ ประจำอยู่ทั่วโลก เช่น เครื่องตรวจวัดความสั่นสะเทือนที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ก็เพียงสามารถตรวจวัดได้จากบนพื้นผิวโลกเท่านั้น การวิเคราะห์แผ่นดินไหวที่อยู่ใต้พื้นโลก (Hypocenter) จึงเป็นในลักษณะตรวจสอบหรือวิเคราะห์ย้อนกลับจากผลการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวบนผิวโลก โดยคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทำหน้าที่คล้ายกับรังสีเอ็กซ์ (X-rays) เดินทางไปในโลก สะท้อนลักษณะโครงสร้างของโลก ลักษณะทางธรณีวิทยา มีการหักเหและการตอบสนองของคลื่นแผ่นดินไหวไปตามลักษณะทางกายภาพของโลกในชั้นต่างๆ ทำให้นักแผ่นดินไหวเข้าใจในธรรมชาติของแผ่นดินไหวและคุณสมบัติทางกายภาพของโลก ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวมุ่งเน้นไปในหลายรายละเอียด แต่สามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 หัวข้อการศึกษาวิชาแผ่นดินไหวในปัจจุบัน


แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว
โครงสร้างของโลก
1. การหาตำแหน่ง ศูนย์กลางแผ่นดินไหว (ละติจูด ลองจิจูด ความลึก เวลาเกิด)

2. การปลดปล่อยพลังงาน(ขนาด โมเมนต์ของแผ่น
ดินไหว)

3. ชนิดของแหล่งกำเนิด(แผ่นดินไหว ระเบิด)

4. ลักษณะรอยเลื่อน(รูปร่าง พื้นที่ การขจัด การเคลื่อนตัว)

5. แรงเค้น(Stress)ของรอยเลื่อนและพื้นโลก

6. การพยากรณ์แผ่นดินไหว

7.การวิเคราะห์เรื่องแผ่นดินถล่ม (Landslide)และภูเขาไฟระเบิด
1.การแบ่งชั้นของโลก(เปลือกโลก แมนเทิล แกนโลก)

2. ความแตกต่างระหว่างพื้นทวีปและมหาสมุทร

3. รูปร่างของ subduction zone

4. โครงสร้างและการแบ่งชั้นของเปลือกโลก

5.ลักษณะกายภาพในแต่ละชั้น(เป็น ของเหลว ของแข็ง)

6. ความเปลี่ยนแปลงในชั้นเปลือกโลก

7. ลักษณะของรอยต่อ

8.การแปลความหมายขององค์ประกอบและความร้อนภายในโลก

          ปัจจุบันความตื่นตัวในการศึกษาวิชาแผ่นดินไหว (Seismology) เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลกไม่เพียงเฉพาะนักแผ่นดินไหว (Seismologist) เท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของบรรดาวิศวกรเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ความรู้พื้นฐานด้านแผ่นดินไหวที่วิศวกรควรทำความเข้าใจ ได้แก่
1. สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว
2. ลักษณะของคลื่นแผ่นดินไหว
3. ปริมาณสำหรับการวัดแผ่นดินไหวเช่น ขนาด ความรุนแรงแผ่นดินไหว พลังงาน
4. แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว
5. การตรวจวัดแผ่นดินไหวและเครื่องมือ
6. สถิติแผ่นดินไหว
7. องค์ประกอบที่เพิ่มความเสียหาย
8. แหล่งข้อมูลแผ่นดินไหว
9. การจัดระบบป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว

การจัดระบบป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว
     ภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยที่ยังไม่สามารถคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้แม่นยำ นอกจากนั้นยังเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่เลือกเวลาเกิดและสามารถส่งผลกระทบข้ามประเทศได้ทางทั้งทางตรงและทางอ้อม วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเผชิญภัยแผ่นดินไหว ได้แก่การมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก่อนการเกิด ขณะเกิด และหลังการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรมที่ต้องคำนึงถึง ตัวอย่างเช่น

ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
-มีข้อบังคับการออกแบบ และก่อสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัย
-การศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนต่างๆ ว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลังหรือไม่ สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ขนาดสูงสุดเท่าใด มีค่าการอุบัติซ้ำ (Return period) กี่ปี
-การศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภัยแผ่นดินไหว เช่น การขยายตัวของความสั่นสะเทือน, สภาพดินเหลว, การออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว ,การวางแผนเส้นทางอพยพ เส้นทางขนส่ง และมาตรการต่างๆ
-มีแผนที่แบ่งเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
-มีระบบปิดอัตโนมัติสำหรับ ระบบอุปกรณ์ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยส่วนรวม เช่น รถไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งมีระบบสำรองข้อมูลที่สำคัญ
-อาคารสิ่งก่อสร้างเดิม มีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ ต้องมีการเสริมความแข็งแรงบริเวณใด
-การควบคุมการก่อสร้าง และคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง ต้องมีมาตรฐานและเข้มงวด
-ประเมินความเสี่ยงของบริเวณที่คาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อประชาชน
-มีแผนปฏิบัติการสำหรับการตอบสนองต่อเหตุการณ์วิกฤตเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และป้องกันผลกระทบที่ตามมา เช่นไฟไหม้ เป็นต้น นอกจากนั้นต้องมีแผนการฟื้นฟูในด้านต่างๆ
-มีระบบตรวจวัดความสั่นสะเทือนที่หนาแน่นและมีประสิทธิภาพ
-มีระบบประกันภัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในบริเวณเสี่ยงภัย
-การซักซ้อมของประชาชนในการเผชิญภัย

ขณะเกิดแผ่นดินไหว
-อาคารสิ่งก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย และสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญต่อสาธารณูปโภค มีสมรรถนะในการต้านแผ่นดินไหวเพียงพอ สิ่งของวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ มีการป้องกันที่ดีพอ
-ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อความแข็งแรงโครงสร้างของอาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน และมีความเข้าใจในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

หลังเกิดแผ่นดินไหว
-การปฏิบัติการค้นหาช่วยชีวิต การเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือ การพยาบาล สุขอนามัย อาหาร น้ำ และเสื้อผ้า
-การซ่อมแซม บูรณะฟื้นฟู สิ่งก่อสร้างที่เสียหาย และระบบสาธารณูปโภคที่เสียหาย ซึ่งการแก้ไขอาจนานนับเดือนหรือปี
-การสร้างอาคารที่พักชั่วคราว

โหวต โหวต: 3 - เฉลี่ย: 3

เพิ่มคำติชม ให้คะแนน
แนะนำติชม

สถิติ
นั้นมี 17 บทวิจารณ์ในฐานข้อมูล
ชมมากสุด: แปลงหน่วย
คะแนนมากสุด: แปลงหน่วย

จำนวนผู้ใช้ทั้งหมดที่ดูบทความในขณะนี้: 1 (0 สมาชิกที่ลงทะเบียน 1 แขก และ 0 สมาชิกที่ไม่ออกนาม)
สมาชิกที่มองเห็นได้: 0


 
 
สนับสนุนโดย
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากสภากาชาดไทย บริษัท นครไทยเน็ตเวิร์ค จำกัด DTAC Advance Info Service กรมอุตุนิยมวิทยา นักวิทยุสมัครเล่น -->
Copyright ©2008 NakhonThai Network Co.,Ltd. All rights reserved.